การคัดเลือกผู้เสนอราคาโดยไม่ชอบ

การคัดเลือกผู้เสนอราคาโดยไม่ชอบ

ดร. โสภิต  วนิชย์ถนอม
นิติกร  สพป.สระแก้ว  เขต ๑   

การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคาเมื่อคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาตรวจสอบผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติครบถ้วน  แล้วคัดเลือกผู้เสนอราคาที่ถูกต้อง ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ถ้าไม่คัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุดต้องมีเหตุผลชัดแจ้ง มิเช่นนั้นก็อาจเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ เพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๑[1] ข้อ ๔๒ วรรคหนึ่ง กำหนดว่าคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา มีหน้าที่ดังนี้…(๒) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาใบเสนอราคาแค็ตตาล็อกหรือแบบรูป และรายละเอียด  แล้วคัดเลือกผู้เสนอราคาที่ถูกต้องตามเงื่อนไขในเอกสารสอบราคา (๓) พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ถูกต้องตาม (๒) ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเสนอให้ซื้อหรือจ้างจากรายที่คัดเลือกไว้แล้ว ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด  ดังนั้น ถ้าผู้เสนอราคามีคุณสมบัติครบถ้วนหลายรายจะต้องจัดซื้อจัดจ้างผู้เสนอราคาต่ำสุด หากไม่เลือกผู้เสนอราคาต่ำสุดก็ต้องมีเหตุผล และถึงแม้ว่าประกาศจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานจะระบุว่าหน่วยงานทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่รับราคาต่ำสุด ก็ต้องระบุเหตุผลให้ชัดแจ้ง การที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาให้เหตุผลเพียงว่าพัสดุผู้เสนอราคาสูงมีคุณภาพดีกว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าพัสดุที่ผู้เสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือกมีคุณภาพดีกว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดอย่างไร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่คัดเลือกผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศเป็นการไม่รับคำเสนอขาย ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดแจ้งที่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด ถ้าหากไม่ปรากฏชัดแจ้งก็ไม่ควรปฏิบัติเพราะอาจเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบต้องรับผิดตามกฎหมาย

* ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๑. (๒๕๔๑, ๒๘ ธันวาคม).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๑๓๑ ง. หน้า ๗-๔๕.


กลุ่มงานวินัยและนิติการ โทร. ๐-๓๗๔๒-๕๔๖๗
Email- kuso2552@gmail.com