วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 นายไสว สารีบท ศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว ได้มอบหมายให้นายสาคร โห้วงศ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนาการศึกษา และนางพยอม ใจสะอาด ผู้อำนวยการกลุ่มลูกเสือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลูกเสือ สังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมประกอบพิธีถวายพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) ณ โรงเรียนสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยมีนายนัฎฐชัย นำพูนสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน
ในการนี้นางสาวกาญจนา เปรมภิรักษา ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว เขต 1 ได้ รายงานผลงานกิจการ
ลูกเสือของจังหวัดสระแก้ว ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานลูกเสือจังหวัดสระแก้ว สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว เขต 1 และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้วในรอบปีที่ผ่านมา และประสบผลสำเร็จดังต่อไปนี้
- จัดฝึกอบรมลูกเสือต้านภัยยาเสพติดจำนวน 2 รุ่น รวม 200 คน
- ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชายุวกาชาด หลักสูตรครูผู้สอนกิจกรรมยุวกาชาด รวม 54 คน
- จัดโครงการนิเทศการจัดกิจกรรมลูกเสือ และยุวกาชาดในสถานศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว จำนวน 90 คน
- ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ เพื่อขอรับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 ท่อน จำนวน 1 คน และวูดแบดจ์ 2 ท่อน จำนวน 32 คน
- จัดกิจกรรมการประกวดระเบียบแถวของลูกเสือ เนตรนารี เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดระดับประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงเรียนบ้านเขามะกา อำเภอเมืองสระแก้ว เป็นตัวแทนของจังหวัดสระแก้ว ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับประเทศ ประเภทลูกเสือสามัญ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับภาค ประเภทลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
- การคัดเลือกลูกเสือ เนตรนารี เพื่อขอรับเข็มลูกเสือบำเพ็ญประจำปี 2562 จำนวน 32 คน
การจัดกิจกรรมประกอบพิธีถวายราชสดุดีฯ นี้มีหน่วยงานทางการศึกษา และกลุ่มลูกเสือโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองสระแก้ว และพื้นที่ใกล้เคียงได้ส่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือลูกเสือ เนตรนารีเข้าร่วมประกอบพิธีฯ จำนวน 13 โรงเรียน ได้แก่
- สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว
- ศูนย์ กศน.อำเภอเมืองสระแก้ว
- โรงเรียนสระแก้ว
- โรงเรียนบ้านทุ่งหินโคน
- โรงเรียนบ้านเนินผาสุก
- โรงเรียนบ้านเขามะกา
- โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส
- โรงเรียนอนุบาลเมืองสระแก้ว
- โรงเรียนสุภวิทย์
- วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
- วิทยาลัยการอาชีพวังน้ำเย็น
- โรงเรียนวัฒนานคร
- โรงเรียนพรพงษ์กุล
ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสือ และลูกเสือที่เข้าร่วมพิธีทั้งสิ้น ประมาณ 2,000 คน
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเห็นว่าประเทศชาติจะมีความมั่นคงได้นั้น ต้องมีกำลังกองทัพที่มีคุณภาพ ประชาชนมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงทรงตั้ง “กองเสือป่า” และนำเยาวชนมาฝึกอบรมตามหลักวิชาการทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในการป้องกันประเทศ ต่อมาได้ทรงเล็งเห็นถึงการปลูกฝังให้เยาวชน รู้จักหน้าที่ในการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จึงทรงตั้ง “กองลูกเสือ” ขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ทรงดำเนินการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบ ข้อบังคับ ลักษณะการปกครอง และฝึกอบรมลูกเสือในกองที่ตั้งใหม่ด้วยพระองค์เอง และ มีพระราชประสงค์ให้นำกิจการลูกเสือไปเผยแพร่ตามโรงเรียนต่างๆ ในทุกมณฑลของประเทศ เพื่อฝึกอบรมเด็กและเยาวชนของชาติ ไว้เป็นกำลังในการป้องกันชาติบ้านเมือและเป็นพลเมืองดีเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้กิจการลูกเสือมีความเจริญรุ่งเรือง และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปตามกาลสมัยจวบจนปัจจุบัน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทนกระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และ นักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก
รุ่งตะวัน โรจนธรธราวัฒน์ รายงงาน